สารานุกรมการบริหารและการจัดการ
เทคนิคการคิดจากมุมมองของหมวก 6 ใบและรองเท้า 6 คู่
Edward de Bono เป็นผู้พัฒนาแนวคิดที่เรียกว่า 6 thinking hats และ 6 Action Shoes เพื่อเปลี่ยนวิธีมองปัญหาโดยใช้การตรวจสอบข้อมูลและความคิดเห็นจากสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม หรือในหลายๆ กลุ่ม ด้วยมุมมองที่หลากหลายในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้การตัดสินใจที่นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมที่สุด
Dr. Edward de Bono เป็นนักฟิสิกส์ นักเขียน และที่ปรึกษาแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ นวัตกรรม และทักษะทางความคิด เคยได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 2005 เขาได้เขียนหนังสือชื่อ Six Thinking Hats (1985) และ Six Action Shoes (1991) กล่าวถึงวิธีการควบคุมธุรกิจ หรือสถานการณ์ในชีวิตโดยการใช้เทคนิคการคิดหลากหลายรูปแบบ วิธีการคิดแบบ 6 Thinking Hats ของเขาเป็นแนวคิดที่มีชื่อเสียงมากในวงการศึกษาและการฝึกอบรม เป็นการคิดเพื่อแก้ปัญหาแบบ lateral thinking คือ การใช้เหตุผลทางอ้อมในการแก้ปัญหา (เช่นในกรณีที่กษัตริย์โซโลมอนใช้ความรักของแม่เป็นเหตุผลในการพิสูจน์ว่าใครเป็นแม่ที่แท้จริงในคดีแย่งชิงทารก) และ parallel thinking ซึ่งเป็นการวางกระบวนความคิดของทีมงานให้ส่งเสริมกันและกัน ช่วยให้การประชุมปรึกษาหารือมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถบรรลุการตัดสินใจที่มีคุณภาพได้ในเวลาอันรวดเร็ว
แนวคิด Six Thinking Hats
สมมุติฐานของแนวคิด คือ การทำงานของสมองมนุษย์จะคิดเรื่องราวไปในทิศทางที่แตกต่างกว้างขวางจนไร้ขอบเขต หากสามารถจัดโครงสร้างทางความคิดให้เป็นหมวดหมู่ ก็จะช่วยพัฒนาความคิดให้แหลมคมชัดเจนจนมองเห็นจุดอ่อนจุดแข็งของเรื่องราวและนำไปสู่ทางเลือกเพื่อการตัดสินใจต่อไปได้ de Bono จัดความคิดที่มีอยู่มากมายให้เป็น 6 กลุ่มและสร้างสัญลักษณ์ของความคิดนั้นด้วยหมวก 6 ใบ 6 สี เขาเชื่อว่าเมื่อใช้ความคิดไปทีละกลุ่ม เหมือนสวมหมวกทีละใบ จะช่วยให้ผู้พิจารณาได้มุมมองที่ชัดเจนตามกลุ่มทางความคิดของหมวกแต่ละใบ ซึ่งหากไม่แยกคิดในแต่ละส่วนแล้ว อาจยึดมั่นถือมั่นตามสัญชาติญาณ, อคติ ฯลฯ Six thinking hats จึงเป็นเทคนิคที่มีพลังซึ่งช่วยให้ได้คิดและตัดสินใจจากมุมมองที่สำคัญ หลากหลาย ครอบคลุม และไม่ยึดติดอยู่กับวิธีคิดและการตัดสินใจแบบเดิม
การคิดแบบ 6 thinking hats จะใช้การตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบเนื้อหาสาระของปัญหาและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องตามรูปแบบความคิดที่กำหนดไว้เป็นคุณสมบัติของหมวกแต่ละใบ ดังนี้
1. หมวกสีฟ้า (Blue Hat)
เป็นการมองภาพใหญ่ของเรื่องราว (the big picture and managing) ในลักษณะการควบคุมกระบวนการ สำรวจปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง มีลำดับความสำคัญอย่างไร มีกระบวนการและความเป็นมาอย่างไร เป็นมุมมองด้านการบริหารจัดการที่ผู้นำทีมหรือผู้บริหารใช้ในการดูแลความคิดของหมวกสีอื่น ๆ อีก 5 ใบให้มั่นใจว่าการแสดงความคิดเห็นยังอยู่กับปัญหาและเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาหนทางที่เป็นไปได้ในการแก้ไข มีพัฒนาการทางความคิดที่นำไปสู่การวางแผนการปฏิบัติ ไม่ใช่การทะเลาะเบาะแว้ง ปะทะคารม หรือวนเวียนอยู่กับเรื่องที่ควรได้ข้อยุติไปแล้ว
คำถามที่นำมาใช้กับหมวกสีฟ้า ได้แก่
o ปัญหาคืออะไร
o จะนิยามปัญหานี้อย่างไร
o อะไรคือเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ต้องการ
o การแก้ปัญหานี้จะส่งผลอะไรบ้าง
o อะไรคือวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการ
2. หมวกสีขาว (White Hat)
เป็นการมองข้อมูลที่มีอยู่และดูว่าได้เรียนรู้อะไรจากมัน วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มที่เกิดขึ้นในอดีต คาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่เป็นฐานในการพิจารณา ค้นหาช่องว่างระหว่างสิ่งที่รู้แล้วกับสิ่งที่ต้องรู้แล้วพยายามเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ที่สำคัญคือ ต้องวางใจให้เป็นกลาง ไม่นำความชอบไม่ชอบในเรื่องใดหรือกับใครมาเป็นอคติในการพิจารณา ไม่ด่วนสรุปเรื่องราวโดยอาศัยข้อมูลหรือมุมมองที่คับแคบ การรู้ว่ามีช่องว่างอะไรที่ขาดหายไปจะช่วยให้มองเห็นวิธีที่จะเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น ทำให้กรอบการปรึกษาหารือของทีมงานมีความกระชับขึ้น
การตอบคำถามต่อไปนี้จะช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริง
o จากข้อมูลที่มีอยู่ทำให้รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้
o ยังไม่รู้อะไรอีกบ้าง
o ได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่
o จำเป็นต้องใช้ข้อมูลประเภทใด เรื่องอะไร ในการแก้ปัญหา
o ปัจจุบันมีทางออกอะไรบ้างหรือไม่ที่สามารถนำใช้ในการแก้ปัญหา
ให้สมาชิกทีมงานช่วยกันตอบคำถามเหล่านี้ด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้ของแต่ละคนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา
3. หมวกสีแดง (Red Hat)
เป้าหมายหลักของหมวกสีแดงคือ การจัดทำข้อเสนอและแผนงานที่มาจากความรู้สึกและข้อสมมุติฐานที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ (hunch) เป็นการเปิดใจให้กว้าง ผูกโยงข้อมูลหรือข้อสมมุติฐานที่มาจากอารมณ์ความรู้สึกเข้ากับปัญหาเพื่อให้ได้ทางออกที่เป็นไปได้โดยไม่ติดอยู่กับข้อจำกัดเรื่องข้อเท็จจริงของข้อมูล ขณะเดียวกันก็คิดด้วยว่าคนอื่น ๆ จะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรหรือไม่ ทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่เข้าใจเหตุผลของเรา
คำถามหลักที่ใช้เพื่อการเปิดกว้างทางความคิดของหมวกสีแดง ได้แก่
o มีสัญชาติญาณความรู้สึกอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องหรือข้อเสนอนี้
o ตามความรู้สึกที่มี นอกเหนือจากข้อเสนอหรือทางออกที่มีผู้นำเสนอมาแล้ว ยังน่าจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างอื่นอีกหรือไม่
o มีความรู้สึกอย่างไรกับทางแก้ปัญหาที่เลือกไว้
o คิดว่าเป็นทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ผู้อื่นคิดอย่างไร ทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว
4. หมวกสีเหลือง (Yellow Hat)
เป็นความกระตือรือร้นและมองโลกในแง่ดี (optimism) เป็นการค้นหาประโยชน์และคุณค่าที่ได้รับจากการตัดสินใจในทางเลือกต่าง ๆ ไม่ปิดกั้นความคิดจากข้อจำกัดใด ๆ สร้างแรงจูงใจให้มีความหวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องมีทางออกหรือคำตอบของปัญหาแม้สถานการณ์จะค่อนข้างบีบคั้นจนอยากเลิกล้มการดำเนินการ
คำถามที่ควรนำมาใช้ ได้แก่
o อะไรคือหนทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหา
o ทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้หนทางนั้นได้
o อะไรคือประโยชน์ระยะยาวที่จะได้รับจากการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าว
5. หมวกสีดำ (Black Hat)
เป็นมุมมองตรงกันข้ามกับหมวกสีเหลือง มองสถานการณ์ว่าอาจเปลี่ยนไปในทางลบได้ทุกเมื่อ เป็นการชี้ข้อผิดพลาด จุดอ่อน และอันตรายที่มีอยู่ในความคิดเห็นหรือข้อเสนอนั้น ขุดลึกลงไปจากระดับพื้นผิวเพื่อค้นหาว่ามีปัญหาอะไรแฝงตัวอยู่หรือไม่ ทำไมทางเลือกนั้นจึงอาจใช้ไม่ได้ผล เป็นโอกาสที่ผู้บริหารหรือผู้นำจะได้ปรับแผนหรือจัดทำแผนสำรองเพื่อรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น ช่วยให้แผนงานมีความรอบคอบรัดกุมและมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
คำถามที่ช่วยสร้างแนวคิดของหมวกสีดำ ประกอบด้วย
o การแก้ปัญหาตามแนวคิดของหมวกสีเหลือง อาจล้มเหลวได้อย่างไร
o แนวคิดนี้มีข้อบกพร่องหลักอยู่ที่เรื่องใด
o มีความเสี่ยงและผลเสียอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้น
o มีทรัพยากร ทักษะ และความสามารถที่จะทำตามแนวคิดของหมวกสีเหลืองหรือไม่
6. หมวกสีเขียว (Green Hat)
เป็นการคิดสร้างสรรค์ นอกกรอบเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ให้กว้างขวางมากขึ้นไปอีก หมวกสีเขียวอาจเสนอความคิดหลุดโลกอย่างไรก็ได้เพราะบ่อยครั้งที่ทางออกของปัญหาก็มาจากส่วนเล็ก ๆ ที่อยู่ในความคิดเหล่านั้น จึงควรปล่อยให้เป็นความคิดที่อิสระที่ไม่มีการตัดสินว่าผิดหรือถูก
คำถามที่ควรใช้เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่กว้างขวาง ได้แก่
o มีทางเลือกอะไรที่เป็นไปได้บ้าง
o จะเอาทางเลือกนี้ไปทำในรูปแบบอื่นได้หรือไม่
o สามารถมองปัญหานี้ในมุมมองอื่นได้หรือไม่
o จะคิดให้นอกกรอบไปจากกฎเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่ได้อย่างไรหรือไม่
ในความเห็นของ de Bono แนวคิดเรื่อง 6 Thinking Hats สามารถนำไปใช้ได้ทั้งกับบุคคลแต่ละคนหรือกับทีมงาน
การนำแนวคิดเรื่อง Six Thinking Hats ไปใช้ในทางปฏิบัติ
ในการพิจารณาปัญหา จะมีลำดับกิจกรรมที่นำหมวก 6 ใบมาใช้แตกต่างกัน ทุกกิจกกรมจะเริ่มต้นและสิ้นสุดที่หมวกสีฟ้าเสมอ กล่าวคือสมาชิกจะเริ่มที่การมองปัญหาในภาพรวมที่มีอยู่ หลังจากได้ใช้มุมมองของหมวกสีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกิจกรรมแล้ว จึงกลับมาดูที่ภาพรวม (หมวกสีฟ้า) อีกครั้งว่ามีความคิดเห็นร่วมที่แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ อย่างไร แล้วจึงก้าวสู่กิจกรรมทางความคิดในลำดับต่อไป
ลำดับกิจกรรมในการแก้ไขปัญหา | หมวกที่ใช้ในแต่ละลำดับกิจกรรม |
ความคิดเริ่มต้น | ฟ้า, ขาว, เขียว, ฟ้า |
พิจารณาทางเลือก | ฟ้า, ขาว, เขียว, เหลือง, ดำ, แดง, ฟ้า |
กำหนดวิธีการแก้ปัญหา | ฟ้า, ขาว, ดำ, เขียว, ฟ้า |
ข้อมูลป้อนกลับ | ฟ้า, ดำ, เขียว, ฟ้า |
การวางแผนกลยุทธ์ | ฟ้า, เหลือง, ดำ, ขาว, ฟ้า, เขียว, ฟ้า |
การปรับปรุงกระบวนการ | ฟ้า, ขาว, ขาว (ความคิดเห็นของบุคคลภายนอก), เหลือง, ดำ, เขียว, แดง, ฟ้า |
การแก้ไขปัญหา | ฟ้า, ขาว, เขียว, แดง, เหลือง, ดำ, เขียว, ฟ้า |
ทบทวนผลการปฏิบัติ | ฟ้า, แดง, ขาว, เหลือง, ดำ, เขียว, ฟ้า |
ผู้ใช้หมวก 6 ใบทางความคิดจะมีมุมมองที่หลากหลายซึ่งช่วยให้เกิดประโยชน์ในเรื่องต่อไปนี้
o เพิ่มความร่วมมือและลดปฏิกิริยาหรือพฤติกรรมต่อต้าน
o ได้พิจารณาประเด็น ปัญหา การตัดสินใจ โอกาสและความเป็นไปได้ในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ
o ได้ใช้กระบวนการทางความคิดเชิงกลุ่มโดยไม่ยึดติดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (parallel thinking) ทำให้เกิดความคิดและทางออกของปัญหาที่ดีกว่าการติดอยู่แต่ในกรอบแคบ ๆ
o ทำให้การประชุมใช้เวลาสั้นลงและมีผลงานมากขึ้น
o ลดข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกทีมงานและผู้เข้าร่วมประชุม
o ส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการกระตุ้นให้เกิดความคิดดี ๆ ได้มากและเร็วขึ้น
o สร้างบรรยากาศการประชุมซึ่งมุ่งผลงานและทำให้อยากเข้ามีส่วนร่วม
o ไม่จำกัดความคิดอยู่กับทางออกของปัญหาเท่าที่มองเห็น แต่แสวงหาทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้และมีความเหมาะสม
o ได้มองเห็นโอกาสในขณะที่คนอื่นมองเห็นแต่ปัญหา
o ได้ความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนและตรงประเด็น
o ได้มองปัญหาจากมุมมองใหม่ที่อาจไม่เคยได้รับการพิจารณา
o ได้ทบทวนข้อดีข้อเสียอย่างครอบคลุม
o ได้มองสถานการณ์อย่างรอบด้าน
o ได้ตรวจสอบอคติที่มุ่งแต่จะปกป้องตนเอง (turf protection)
o ได้ผลงานที่สำคัญและมีความหมาย ด้วยเวลาที่น้อยลง
ความรู้และทักษะที่สำคัญซึ่งช่วยสนับสนุนกระบวนการคิดแบบ 6 thinking hats
(1) การพัฒนาภาวะผู้นำ
(2) การบริหารทีมงานและการสื่อสาร
(3) การคิดอย่างสร้างสรรค์
(4) การเป็นผู้นำการประชุมและทักษะการตัดสินใจ
(5) การพัฒนาสินค้า กระบวนการ และการบริหารงานโครงการ
(6) การวิเคราะห์ ประเมินข้อเท็จจริงเพื่อการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา
(7) การเปลี่ยนแปลงขององค์กร
แนวคิด Six Action Shoes
เมื่อสำรวจความคิดและตัดสินใจแล้วว่าจะใช้ทางเลือกใด ขั้นต่อไปคือการนำทางเลือกนั้นมาปฏิบัติ de Bono ได้เสนอแนวทางการปฏิบัติ 6 รูปแบบที่ควรนำมาพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบหรือส่วนผสมของรูปแบบอย่างไรจึงจะทำให้การปฏิบัติประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมายได้อย่างดีที่สุด de Bono ใช้รองเท้าซึ่งมีสีที่แตกต่างกัน 6 สีเป็นสัญลักษณ์ของแนวทางปฏิบัติแต่ละแนวทาง ดังนี้
(1) รองเท้าสำนักงาน สีฟ้า (Navy Formal Shoes)
สีกรมท่าหรือฟ้าน้ำทะเล เป็นสีที่ใช้กับเครื่องแบบทางการทหารซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบที่ใช้ประจำ รองเท้าสีฟ้าจึงสื่อความหมายว่า “ทำตามที่บัญญัติไว้ในหนังสือ” หรือ ทำไปทีละขั้นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ
พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้าสีฟ้า มีลักษณะดังนี้
o ทำตามกฎที่กำหนดไว้
o ใช้ความระมัดระวัง
o ปฏิบัติตามตำราและตามที่ทำ ๆ กันมาในอดีต (routine behavior)
มีหลายกรณีที่การปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นสิ่งจำเป็นและให้ผลสำเร็จได้ดีกว่าการตัดสินใจทำไปตามอิสระ ในสถานการณ์เช่นนี้ การทำไปอย่างที่เคยทำกันมาจึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ก้าวต่อไปได้
(2) รองเท้ากีฬา สีเทา (Gray Sneakers)
สีเทาเป็นสีของการทำงานโดยใช้สมอง สำรวจสิ่งต่าง ๆ ในรายละเอียด สื่อความหมายถึงการเก็บรวบรวมข้อมูล (collect information) เพื่อเป็นฐานทฤษฎีหรือข้อสมมุติฐานที่จะทำการทดสอบต่อไป
พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้าสีเทา มีลักษณะดังนี้
o ทำใจเป็นกลาง ไม่ด่วนสรุป (neutrality)
o ใช้ความคิด เหมือนส่วนที่เป็นสีเทาของสมอง และ
o ไม่ผลีผลาม (unobtrusive action)
รองเท้าสีเทาจึงเน้นไปที่การเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบให้กว้างขวางครอบคลุมให้มากที่สุดเพื่อใช้เป็นฐานในการดำเนินการอื่น ๆ ต่อไป
(3) รองเท้าลุยงานสนาม สีน้ำตาล (Brown Brogues)
สีน้ำตาลเป็นสีของพื้นดิน หมายถึงการเปลี่ยนสถานะจากความคิดมาเป็นการปฏิบัติ รองเท้าสีน้ำตาลจึงสื่อความหมายว่าเป็นการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงแบบเท้าติดดิน คือ ด้วยการประเมินสถานการณ์ กำหนดลำดับความสำคัญ และลงมือปฏิบัติตามควรของเหตุและผล
พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้าน้ำตาล มีลักษณะดังนี้
o ปฏิบัติโดยไม่ติดยึดอยู่กับกรอบความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง (pragmatism)
o นำมาใช้ปฏิบัติได้จริง (practicality)
o มีแผนในการปฏิบัติ แต่พร้อมเปลี่ยนแปลงเป็นแผนอื่นได้ถ้าจำเป็น
o มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้น
(4) รองเท้าความปลอดภัยสีส้ม (Orange Gumboots)
สีส้มเป็นสีของสัญญาณเตือนให้หลีกพ้นจากภาวะวิกฤติ รองเท้าสีส้มจึงสื่อความหมายถึงการตอบสนองต่อสัญญาณเตือนเหตุฉุกเฉิน (emergency response)
พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้าสีส้ม มีลักษณะดังนี้
o ลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน โดยการประเมินสถานการณ์และกลยุทธ์การปฏิบัติอย่างละเอียดถี่ถ้วน สมเหตุสมผล ชัดเจน ไม่กำกวม
o ติดตามและจัดลำดับความสำคัญของผลที่ได้รับจากการปฏิบัติและไม่ได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและระมัดระวัง
(5) รองเท้าแตะใส่ในบ้าน สีชมพู (Pink Slippers)
สีชมพูเป็นสีที่ให้ความรู้สึกสบาย น่าทนุถนอม และทำความเข้าใจได้ ขณะเดียวกันก็ให้ความเคารพต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น (human caring)
พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้าแตะสีชมพู มีลักษณะดังนี้
o ตัดความบาดหมางทางจิตใจที่มีต่อผู้เห็นต่าง
o ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพ ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจเท่าที่จะสามารถทำได้
o มีความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ความเข้าใจกัน (care) ควรมีให้กับทุกคน
(6) รองเท้าใส่ขี่ม้า สีม่วง (Purple Riding Boots)
สีม่วงเป็นสีแห่งพิธีการ ความหรูเลิศ และความสำนึกรับผิดชอบในสิ่งที่ควรทำ เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจหน้าที่
พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้ารองเท้าสีม่วง มีลักษณะดังนี้
o แสดงพฤติกรรมและใช้ดุลยพินิจตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ
o แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่ ไม่ใช่พฤติกรรมส่วนตัว
ถึงจะเป็นการแสดงพฤติกรรมตามบทบาทหน้าที่ แต่ผู้แสดงพฤติกรรมดังกล่าวก็ยังสามารถความคิดเห็นใหม่ ๆ เพิ่มเติมได้ ทั้งนี้จะต้องเคารพต่อหลักความยุติธรรมและความเสมอภาคที่ยอมรับได้ทางสังคม เป็นบทบาทที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ไม่อยู่เหนือกฎหมาย
ทั้ง Six Thinking Hats และ Six Action Shoes เป็นเพียงทักษะการใช้ความคิดเพื่อการตัดสินใจ ผู้นำมาใช้จำเป็นต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารและการจัดการพอสมควรจึงจะสามารถประยุกต์แนวคิดเข้ากับการปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังได้
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
• 7 Steps to Turn Your Dreams into Goals and Achieve Them
• 8 Disciplines of Problem Solving
• Action Learning [Reginald Revans]
• Brainstorming
• Creative Thinking for Managers
• Critical Thinking
• Effective Group Decision Making
• Effective Meeting Guidelines
• Innovative Thinking (David Weiss and Claude Legrand)
• Lateral Thinking
• Leadership Development Skills
• Ultimate Guide to Project Management
———————————
หมายเหตุ: ผู้เขียนเปิด website สำรองข้อมูล ไว้ที่ drpiyanan.blogspot.com ผู้สนใจสามารถเปิดเข้าอ่านได้เช่นเดียวกับ web นี้ แต่จะมีความยั่งยืนกว่าเพราะสามารถรักษาสถานภาพของ web อยู่ได้โดยไม่ต้องต่ออายุ domain และ hosting เป็นรายปี