รูปแบบการฝึกอบรมผู้จะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร

     การฝึกอบรมผู้บริหารมีรูปแบบแตกต่างไปจากการฝึกอบรมพนักงานทั่วไปที่มักนำมาใช้กัน การฝึกอบรมผู้จะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร จะกระทำในสามรูปแบบ ได้แก่

   1. การหมุนเวียนงาน (job rotation)
     เป็นเทคนิคการฝึกอบรมทางการบริหารที่ให้ผู้ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารต้องหมุนเวียนการทำงานจากหน่วยงานหนึ่งไปทำงานในอีกหน่วยงานหนึ่งคราวละหลายๆ เดือนเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในทุกส่วนของธุรกิจและเพื่อทดสอบกึ๋นของผู้ที่จะได้รับการมอบหมายความรับผิดชอบทางการบริหาร ผู้รับการฝึกอบรมจึงได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ขณะเดียวกันก็ได้ค้นพบตนเองว่าชอบทำงานประเภทไหนมากน้อยกว่ากัน

   2. การมีพี่เลี้ยงช่วยแนะนำ (coaching)
     การฝึกอบรมประเภทนี้ผู้เข้ารับการอบรมจะทำงานร่วมกับผู้จัดการอาวุโสหรือกับผู้ที่ตนจะเข้าดำรงตำแหน่งแทน เป็นการถ่ายโอนความรับผิดชอบเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างแท้จริง

   3. การเรียนรู้จากการแก้ปัญหา (action learning)
     เป็นเทคนิคการฝึกอบรมที่ผู้เตรียมตัวเป็นผู้บริหารจะได้ทำงานเต็มเวลาเพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาในหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานประจำของตน วิธีการฝึกอบรมเริ่มด้วยการเลือกทีมงานขึ้นมาประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 25 คน หลังจากนั้นผู้ให้การฝึกอบรมจะมอบปัญหาธุรกิจในโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งอาจต้องใช้ความรู้ความชำนาญมากกว่าที่ผู้เข้ารับการอบรมคนหนึ่งคนใดจะเรียนรู้หรือมีประสบการณ์ได้ครบถ้วน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้การช่วยเหลือแนะนำของผู้จัดการอาวุโสและมีข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ซึ่งกันและกัน ผู้บริหารจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะยอมรับคำแนะนำอันเป็นผลจากการศึกษาของทีมงานนั้นหรือไม่ บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น GE, Samsung และ Deutsche Bank ใช้วิธีนี้ในการอบรมผู้ที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารขององค์กร

     กระบวนการฝึกอบรมเพื่อการเรียนรู้จากการแก้ปัญหา จะแบ่งออกเป็นสามช่วง คือ
   1) ช่วงการจัดวางกรอบงาน (framework phase) ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ การวางแผนการทำงาน ทีมงานจะกำหนดกรอบการทำงานและเก็บรวมรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการทำงาน

   2) ช่วงหารือการปฏิบัติ (action forum) ใช้เวลา 2-3 วันในการอภิปรายและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาตามผลการศึกษา/span>

   3) ช่วงทบทวนข้อเสนอแนะ (accountability session) เป็นช่วงเวลาที่ผู้เข้ารับการอบรมจะเข้าหารือกับกลุ่มผู้บริหารเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและรายงานความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามข้อเสนอในทุกๆ 30 วันรวม 90 วัน

     การเรียนรู้จากการแก้ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งคือการเรียนรู้จากกรณีศึกษา (case study) เป็นการเรียนรู้ที่ทำได้ทั้งแบบเป็นกลุ่มย่อยและแบบเดี่ยวโดยผู้ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารจะได้รับกรณีศึกษาซึ่งเป็นปัญหาจริงขององค์กรเพื่อนำมาวิเคราะห์ จัดทำข้อเสนอ แล้วนำมาหารือร่วมกับผู้เข้ารับการอบรมคนอื่นๆ

     บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
  • Action Learning [Reginald Revans]
  • Coaching Leadership Style
  • Informal Coaching for Managers
  • Team Training

———————————

หมายเหตุ: ผู้เขียนเปิด website สำรองข้อมูล ไว้ที่ drpiyanan.blogspot.com ผู้สนใจสามารถเปิดเข้าอ่านได้เช่นเดียวกับ web นี้ แต่จะมีความยั่งยืนกว่าเพราะสามารถรักษาสถานภาพของ web อยู่ได้โดยไม่ต้องต่ออายุ domain และ hosting เป็นรายปี

Visits: 3353

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

%d bloggers like this: